สติปัฏฐาน ๔ หมายถึงข้อธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติ ใช้สติเป็นประธานในการกำหนดระลึกรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงโดยไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้าย ซึ่งจะทำให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริง จุดประสงค์ของการทำ สติปัฏฐาน ๔ ก็เพื่อฝึกสติ และใช้สตินั้นพิจารณาและรู้เท่าทันในกาย เวทนา จิต และธรรม เพื่อให้เกิดความคลายกำหนัด ละวางซึ่งตัณหาและอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์
การประพฤติธรรม คือการประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของความถูกต้องและความดี ทั้งปรับปรุงพฤติกรรมของตนให้ดีสมกับที่เกิดเป็นคนและให้มีความเที่ยงธรรม
“อินทรีย์” หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในกิจของตน มี ๕ ประการ คือ
ศรัทธา คือ สัทธินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการน้อมใจเชื่อ
วิริยะ คือ วิริยินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการประกอบความเพียร
สติ คือ สตินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการระลึกได้
สมาธิ คือ สมาธินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการตั้งมั่นไม่ฟุ้งซ่าน
ปัญญา คือ ปัญญินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการรู้ตามความเป็นจริง
อริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ อันเป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา มีดังนี้ ๑) ทุกข์ คือ ความจริงที่ว่าด้วยความทุกข์ ๒) สมุทัย คือ ความจริงที่ว่าด้วยเหตุให้เกิดทุกข์ ๓) นิโรธ คือ ความจริงที่ว่าด้วยความดับทุกข์ ๔) มรรค คือความจริงที่ว่าด้วยทางแห่งความดับทุกข์